ครูสุดซึ้งน้ำตาตก นร.ป.1 รวมเงินคนละ 20 ช่วยค่าน้ำมัน ไม่อยากให้ครูย้ายโรงเรียน

จากกรณีที่ได้มีผู้ใช้เฟซบุ๊กที่มชื่อว่า “ครู พร ปิยมาภรณ์ จันทร์ใหม่” โพสต์คลิปสุดซึ้ง หลังต้องย้ายโรงเรียนไปอยู่ใกล้บ้าน และบอกกับนักเรียนว่าเพราะไม่มีเงินจ่ายค่าน้ำมันรถ สุดท้ายเด็ก ป.1 รวมเงินกันมาคนละ 20 บาท เพื่อหวังให้ครูไม่ต้องย้าย กลายเป็นภาพสุดซึ้ง โดยล่าสุดวันที่ 12 ธ.ค. 2566 น.ส.ปิยมาภรณ์ หรือครูพร เปิดเผยว่า…

เมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2566 เป็นวันที่ตนปฏิบัติหน้าที่วันสุดท้าย โดยตนสอนอยู่ที่โรงเรียนวัดนางเอื้อย ต.กะทูน อ.พิปูน จ.นครศรีธรรมราช สพป.นครศรีธรรมราช เขต 2 หลังเป็นครูวิชาภาษาอังกฤษมา 8 ปี 9 เดือน 22 วัน และตนขอย้ายไปที่โรงเรียนวัดโคกทราง ต.นางหลง อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช สพป.นครศรีธรรมราช เขต 3 ซึ่งอยู่ใกล้กับบ้านและครอบครัว

ตลอดระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมา ตนประสบกับภาวะค่าใช้จ่ายที่หนักมาก โดยเฉพาะค่าเดินทาง เนื่องจากโรงเรียนอยู่ห่างจากบ้านประมาณ 200 กว่ากิโลเมตร โดยตนจะเดินทางกลับบ้านเพื่อไปดูแลพ่อแม่ทุกเสาร์อาทิตย์ จนมาถึงช่วงที่หนักมากๆ คือช่วงโควิด-19 ที่ตนจะต้องเดินทางไปกลับบ้าน ทำให้ต้องจ่ายค่าน้ำมัน 600 บาทต่อวันในช่วงนั้น

ทำให้ค่าใช้จ่ายติดลบ และแม่ตนก็ขอให้ย้ายโรงเรียนอยู่ทุกปี จนมาปีนี้ที่ถึงเวลา เพราะด้วยภาระ หน้าที่ต่าง ๆ และรวมถึงลูกที่อยากให้ครอบครัวอยู่กันพร้อมหน้า จึงตัดสินใจย้าย ครูพร กล่าวว่า… จริงๆ ตนได้รับคำสั่งย้ายมา 1 เดือนแล้ว แต่เพิ่งจะมาบอกกับเด็กๆ 1 วันก่อนวันที่ทำงานวันสุดท้าย

โดยบอกกับเด็กๆ ว่าหากใครอยากจะเขียนจดหมายบอกความในใจ หรืออยากให้ของขวัญครูก็ให้นำมาในวันที่ 23 พ.ย. 2566 แต่ที่พีกที่สุดคือนักเรียนชั้น ป.1 ที่ไร้เดียงสา เพราะเขาเข้าใจว่าที่ตนต้องย้ายเพราะไม่มีเงินจ่ายค่าน้ำมัน เลยไปนัดแนะกันมาว่า ให้เตรียมเงินกันมาคนละ 20 บาทเพื่อมามอบให้ครู

แต่บางรายก็ซื้อขนมกินไปตอนเที่ยงเลยเหลือ 10 บาท บ้าง 5 บาท บ้าง และส่วนใหญ่ก็เป็นเด็กผู้ชาย ที่คิดอะไรตรงไปตรงมา วินาทีนั้นตนทั้งซึ้งและเอ็นดู เลยปรากฏเป็นภาพหัวเราะไปร้องไป แต่ตนก็ไม่ได้รับไว้ บอกว่าขอแค่ตั้งใจเรียนก็พอแล้ว ตนรู้ว่าเด็กๆ ผูกพันกับตนมาก เพราะ ป.1 จะเป็นชั้นที่ยังไม่รู้อีโหน่อีเหน่

อาจจะโดนเพื่อนแกล้งบ้าง แกล้งเพื่อนบ้าน ตนก็จะเป็นคนคอยปลอบประโลม คอยขัดเกลา การจากลาในครั้งนี้เลยกลายเป็นความผูกพันที่มากกว่าครูและนักเรียน แต่เป็นความผูกพันเหมือนคนในครอบครัว

About the author

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *