วันที่ 17 พ.ย. 2566 หลังจากที่เกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.4 แม็กนิจูด เมื่อเวลาประมาณ 08.37 น. มีจุดศูนย์กลางอยู่ที่ความลึก 9 ก.ม. ใกล้กับเมืองเชียงตุงรัฐฉานประเทศเมียนมา สามารถรับรู้แรงสั่นสะเทือนได้ทั้งภาคเหนือ การสั่นสะเทือนยังส่งผลให้ผู้ที่อยู่ในตึกสูงในกรุงเทพฯ สามารถรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนได้
โดยขณะเกิดแผ่นดินไหวดังกล่าว ทำให้ผู้ที่อยู่ในอาคารแตกตื่นและวิ่งหนีออกไปในที่โล่ง บางรายกำลังทำธุระส่วนตัวหรือทำงานบ้านอยู่ ต้องพยายามหาที่ปลอดภัย เพื่อป้องกันตัวเอง ในส่วนของโรงเรียนต่างๆ ได้มีการซ้อมแผนรับมือกับ สถานการณ์แผ่นดินไหวเอาไว้ โดยเฉพาะที่โรงเรียนเทศบาล 2 หนองบัวภาพ
จากกล้องวงจรปิดของโรงเรียนเป็นช่วงที่เด็กนักเรียนระดับประถมศึกษาปีที่ 5 ซึ่งพึ่งเข้าเรียนในรายวิชาแรก และหลังจากลงนั่งเรียนเพียงไม่กี่นาทีก็เริ่มเกิดการสั่นไหวทำ ให้โต๊ะและเก้าอี้โยกไปมา จนกระทั่งเมื่อมีการสั่นไหวในระดับ 6.4 ทำให้ทุกคนภายในห้องพากันก้มตัวและมุดลงใต้โต๊ะ โดยไม่ต้องมีการบอกกัน ซึ่งตรงตามการซ้อมแผนเผชิญเหตุที่มีการทำเป็นประจำทุกปี
หลังการสั่นไหวหยุดลงครูก็ได้ให้เด็กๆ ออกไปอยู่ในที่โล่ง ด้านนอกอาคารเพื่อความปลอดภัย เช่นเดียวกับที่โรงเรียนดรุณราษฎร์วิทยา อ.แม่สาย จ.เชียงราย ครูต่างพานักเรียนออกมารวมกันอยู่บริเวณ สนาม ซึ่งเป็นที่โล่ง หลังจากเกิดเหตุแผ่นดินไหว
นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผวจ.เชียงราย สั่งการให้ ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงราย และนายอำเภอแต่ละอำเภอ ออกสำรวจความเสียหายใน แต่ละพื้นที่ เพื่อรวบรวมข้อมูลที่จะให้การช่วยเหลือประชาชน หากได้รับความเสียหาย ต่อไป
สำหรับรัฐฉานเคยเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงขึ้นหลายครั้งในรอบ 10 ปี โดยเมื่อปี 2554 เคยเกิดแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 24 มี.ค.2554 ห่างจาก จ.เชียงราย ประมาณ 70 กิโลเมตร โดยมีความแรงถึง 6.8 และเกิดอาฟเตอร์ช็อครุนแรงหลายครั้งจนสร้างความเสียหายให้อาคารบ้านเรือน สะพาน ฯลฯ อย่างหนักรวมไปถึงโบราณสถานและสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ใน จ.เชียงราย ด้วย เพราะมีรอยเลื่อนขนาดใหญ่หลายรอย เช่น รอยเลื่อน Wan Ha รอยเลื่อน Nam Ma