จากสถานการณ์น้ำท่วมใน จ.พระนครศรีอยุธยา หลังจากเขื่อนเจ้าพระยาที่จ.ชัยนาท ระบายน้ำลงสู่ท้ายเขื่อนอยู่ที่ 1,600 ลบ.ม./วินาที ทำให้ปริมาณน้ำที่ไหลผ่านพระนครศรีอยุธยา คลองสาขาและแม่น้ำน้อย ระดับน้ำ เพิ่มขึ้นล้นตลิ่งเข้าท่วมในหลายพื้นที่ นอกแนวคันกั้นน้ำ
โดยบริเวณหน้าวัดกษัตราธิราช อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา พบว่าปริมาณน้ำเพิ่มมากขึ้นและกระแสน้ำไหลเชี่ยวแรง เหลืออีกประมาณ 50 ซม. จะเท่ากับพื้นตลิ่งชั้นนอกของบริเวณวัด
ส่วนที่โบราณสถานวัดไชยวัฒนาราม จ.พระนครศรีอยุธยา ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา พบระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น 8 ซม. เหลืออีกประมาณ 60 ซม. จะเท่ากับตลิ่งชั้นนอกของโบราณสถานวัดไชยวัฒนาราม ทำให้เจ้าหน้าที่กรมศิลปากร ติดตั้งแนวบังเกอร์ป้องกันน้ำท่วม เครื่องสูบน้ำระบบอัตโนมัติ และเครื่องสูบน้ำระบบไฟฟ้าไว้พร้อมแล้ว พร้อมกับติดตามการระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยา และสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด
สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดพระนครศรีอยุธยา รายงานสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา พบระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา คลองสาขา และแม่น้ำน้อยที่รับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำเพิ่มสูงขึ้นเฉลี่ยประมาณ 10-15 ซม. ล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนที่อาศัยอยู่ริมน้ำนอกแนวคันน้ำแล้วจำนวน 7 อำเภอ 64 ตำบล 9,770 ครัวเรือน
จ.พระนครศรีอยุธยามีพื้นที่ปลูกข้าวอยู่ในทุ่งรับน้ำทั้งหมด 377,181 ไร่ พื้นที่ข้าวเก็บเกี่ยว ในทุ่งรับน้ำ 372,427 ไร่ มีนาข้าวที่ได้รับความเสียหาย จากน้ำล้นตลิ่ง 680 ไร่ และจะมีนาข้าวที่คาดว่าจะเสียหาย 677 ไร่ อยู่ในพื้นที่ อ.ผักไห่ อ.เสนา อ.บางบาล อ.บางซ้าย และอ.เสนา
นายนิวัฒน์ รุ่งสาคร ผวจ.พระนครศรีอยุธยา สั่งการจัดตั้งศูนย์บัญชาการป้องกันและแก้ปัญหาน้ำท่วม ระดับจังหวัด อำเภอ และองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อติดตามสถานการณ์และเตรียมความพร้อมช่วยเหลือประชาชน