หมูเถื่อนทะลักเข้าประเทศ ขายเกลื่อนราคาถูก 135 บาท/กก. ร้านข้าวแกง-หมูกระทะแห่ซื้อ ชี้เป็นขบวนการใหญ่ทั้งสำแดงเท็จเลี่ยงภาษีผ่านท่าเรือแหลมฉบัง ทั้งลักลอบนำเข้าทางเรือประมง-ด่านชายแดนเพื่อนบ้านมาขึ้นฝั่งที่ภาคใต้ ให้โรงเฉือดสวมใบอนุญาตชำแหละขาย กระทบผู้เลี้ยงในประเทศหนัก โรงเชือดรับซื้อหมูจากฟาร์มลดลง อธิบดีกรมปศุสัตว์บอกขอตรวจสอบข่าวก่อน ยันมีมาตรการเข้มงวดอยู่แล้ว
แหล่งข่าวในวงการผู้เลี้ยงสุกร เปิดเผยว่า ตั้งแต่เกิดการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร (African Swine Fever) หรือ ASF ขึ้นในประเทศ มีผลทำให้ แม่พันธุ์หมู จากทั่วประเทศ 1.1 ล้านตัว (ผลิตลูกหมูหรือ หมูขุน ได้ 21-22 ล้านตัว/ปี) เสียหายไปกว่า 50% ทำให้เหลือแม่หมูอยู่ประมาณ 550,000 ตัว และผลิตเป็นหมูขุนได้เพียง 12-13 ล้านตัว/ปี หรือเท่ากับ ซัพพลาย หมูหายไปกว่า 10 ล้านตัว
ประกอบกับผู้เลี้ยงหมูรายกลางและรายเล็กยังไม่กล้าเสี่ยงที่จะกลับมาเลี้ยงหมูใหม่ เนื่องจากมีอัตราการตายและต้นทุนการเลี้ยงสูง ส่งผลให้ราคาหมูเนื้อแดงในประเทศพุ่งทะยานขึ้นไปใกล้แตะเพดาน 300 บาท/กก. แต่ที่ผ่านมาได้เกิดเหตุการณ์ที่ ผิดปกติ ขึ้นในวงการผู้เลี้ยงหมู เนื่องจากราคาหมูชำแหละได้ลดต่ำลงอย่างไม่มีสาเหตุ ทั้ง ๆ ที่การเลี้ยงหมูยังไม่ฟื้นตัวจากการระบาดของโรค ASF ส่งผลให้ผู้ประกอบการต่างวิพากษ์วิจารณ์และพยายามหาสาเหตุที่ราคาหมูลดลง
จนพบว่า ปัจจุบันเกิดกระบวนการ ลักลอบ นำเข้าหมูชำแหละและเครื่องในเถื่อนจากต่างประเทศ โดยเป็นกระบวนการที่ใหญ่โตมาก เพราะหมูชำแหละเถื่อนที่ไม่มีที่มาที่ไประบาดไปตามตลาดต่าง ๆ อย่างรวดเร็ว โดยเนื้อหมูเถื่อนเหล่านี้จะสังเกตได้ว่า มีการจำหน่ายในราคาต่ำประมาณ กก.ละ 135-145 บาท และยังพบว่า มีโรงเชือดซื้อหมูเนื้อแดงเถื่อน ไปสวม ใบอนุญาต ส่งขาย มีกำไรดีกว่ารับซื้อหมูจากเกษตรกรไปเชือดเอง
หมูเถื่อนเหล่านี้บรรจุเป็นกล่องมาในตู้คอนเทนเนอร์ ระบุต้นทางมาจากประเทศเยอรมนี สเปน ส่วนใหญ่มาขึ้นที่ท่าเรือแหลมฉบัง พร้อมทำเอกสารสำแดงเท็จ จะระบุเป็นปลา เพื่อหลบเลี่ยงการตรวจเรื่องโรคระบาดและหลบเลี่ยงการขอใบอนุญาตขนย้ายซากสัตว์จากกรมปศุสัตว์ เมื่อนำเข้ามาได้แล้วก็จะกระจายนำไปฝากห้องเย็นเดือนละไม่ต่ำกว่า 1,000 ตู้ ทั้งที่จังหวัดสมุทรสาคร นครปฐม สมุทรปราการ และห้องเย็นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ล่าสุดเมื่อเดือนกรกฎาคม 2565 มีการนำเข้ามาเป็นจำนวนมาก วางขายกันเกลื่อนตลาดในร้านขายหมูหรือช็อปหมูที่เปิดขายกันทั่วประเทศ จนส่งผลกระทบต่อราคาหมูมีชีวิตที่ฟาร์มของเกษตรกรไปเข้าโรงเชือดลดลงจำนวนมาก แหล่งข่าวกล่าว โรงเชือดนำหมูเถื่อนสวมใบอนุญาต ส่วนข้อสงสัยที่ว่า ทำไมหมูเถื่อนเหล่านี้จึงสามารถจำหน่ายในราคาที่ถูกกว่าหมูชำแหละในประเทศนั้น
เป็นเพราะต้นทุนต่อหน่วยในการเลี้ยงหมูต่างประเทศต่ำกว่าไทย เพราะเลี้ยงเป็นจำนวนมาก โดยต้นทุนหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มตกประมาณ 40 บาทต่อ กก. ยิ่ง เครื่องใน ยิ่งแทบไม่มีราคา เพราะคนไม่นิยมบริโภคกลายเป็นส่วนเกินที่ทิ้ง ส่งผลให้ผู้ลักลอบนำเข้าหมูเสียค่าใช้จ่ายเพียงค่าขนส่งมาถึงไทยเท่านั้น เปรียบเทียบกับเกษตรกรไทยมีต้นทุนการเลี้ยงหมูอยู่ที่ 93-98 บาทต่อ กก.
ตอนนี้เกษตรกรขายหมูมีชีวิตหน้าฟาร์ม 104-110 บาท/กก. เมื่อซื้อหมูมาเข้าโรงเชือด จะมีต้นทุนค่าเชือดต่าง ๆ จะตกประมาณ 200-210 บาท ซึ่งในหมู 1 ตัว มีเนื้อแดงเพียง 50-55% ที่เหลือเป็นเครื่องใน ขณะที่ราคาหมูเนื้อแดงในตลาดแต่ละภาคขายเฉลี่ยประมาณ 170-230 บาท/กก. ดังนั้นการที่โรงเชือดซื้อหมูเนื้อแดงเถื่อนมาสวมใบอนุญาตจึงได้กำไรดีกว่า ไม่ต้องถัวเฉลี่ยราคาเครื่องในที่ขายได้ในราคาต่ำ
การที่กรมปศุสัตว์แถลงจับหมูเถื่อน-ไก่เถื่อนได้นั้น เป็นแค่ตัวอย่างเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ยืนยันว่า มันมีกระบวนการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อนเกิดขึ้นจริง แต่มันใหญ่โตกว่าที่จับได้มาก มีการพูดกันถึงขั้นที่ว่า สามารถนำเข้าหมูเถื่อนได้ไม่ยาก เพราะมีการเคลียร์สิ่งที่เรียกกันว่า “เคลียร์ค่าตู้แล้ว” จึงมีหมูเถื่อนราคาถูกกว่าปกติมาวางจำหน่ายในตลาดทั่วไปได้ง่าย ๆ ผ่านทางเครือข่ายห้องเย็นทั่วประเทศ” แหล่งข่าวตั้งข้อสังเกต
ด้านนายสุนทราภรณ์ สิงห์รีวงศ์ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคเหนือ กล่าวว่า พื้นที่ภาคเหนือปกติปริมาณการเลี้ยงหมูจะไม่เพียงพอต่อการบริโภค จะมีการส่งหมูจากพื้นที่ภาคกลางขึ้นมาขาย ปกติหมูมีชีวิตเข้ามาเชือดในพื้นที่ประมาณ 2,000-3,000 ตัวต่อเดือน และมีการนำเข้าซากหมูหรือหมูที่เชือด โดยมีใบอนุญาตถูกต้องเข้ามาประมาณ 2-3 ล้านกิโลกรัมต่อเดือน
แต่สมาคมมีข้อน่าสังเกตว่า ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2565 มีการนำเข้า ซากหมู ที่มีใบอนุญาตขนย้ายถูกต้องขึ้นมาทางภาคเหนือเพิ่มขึ้นเป็น 5 ล้านกิโลต่อเดือน ส่งผลกระทบทำให้กระทบยอดขายหมูมีชีวิตในฟาร์มเริ่มช้าลง 30% เราไม่รู้ว่าหมูที่เข้ามาจะเป็นหมูเถื่อนหรือไม่ เพราะหมูที่เข้ามาทั้งหมดมีใบอนุญาตระบุถูกต้อง แต่เป็นซากหมูจำนวนมากที่เข้ามาตีตลาดในภาคเหนือ โดยขายกันในราคา 230 บาทต่อ กก. ส่งผลทำให้เกษตรกรขายหมูได้น้อยลง เช่น เขียงเคยเข้ามาจับ 3 ตัวต่อวันก็จับเหลือเพียง 1-2 ตัวต่อวัน
โดยราคาขายหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มในพื้นที่ภาคเหนือราคาประมาณ 110 บาท/กก. ทำให้ผู้เลี้ยงต้องเลี้ยงหมูที่ยังขายไม่ได้ต่อไป และเริ่มสะสมน้ำหนักเกิน 100 กก. ต้นทุนการเลี้ยงยิ่งสูงขึ้น หากสถานการณ์เป็นเช่นนี้หวั่นเกรงจะกระทบต่อราคาขายจะเริ่มลดลง แต่ในกลุ่มผู้เลี้ยงรายใหญ่คุยกันพยายามตรึงราคาไว้ไม่ให้ลง เพราะต้นทุนการเลี้ยงสูง เพราะการเลี้ยงให้รอดจากโรค ASF ยาก ต้นทุนค่าอาหารสัตว์ก็สูง ร้านอาหารชี้หมูเถื่อนมาจากภาคใต้
พร้อม ๆ กันนี้มีรายงานข่าวจากวงการธุรกิจร้านอาหารเข้ามายืนยันอีกด้วยว่า ขณะนี้เริ่มเห็นภาพการ ลักลอบ นำเข้าเนื้อหมูเถื่อนเข้ามาจำหน่ายในตลาดภายในประเทศ โดยมีต้นทางมาจากประเทศเพื่อนบ้าน ขนส่งผ่านทางเรือประมงและด่านชายแดนในภาคใต้ โดยเนื้อหมูที่ลักลอบนำเข้ามาจะเป็นหมูชำแหละแช่แข็ง มีโรงพักหมูอยู่ที่จังหวัดใหญ่ๆ เพื่อส่งกระจายต่อไปตามแหล่งต่างๆ
ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด และขายถูกมากในราคา กก.ละ 100-120 บาท ลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นพ่อค้าแม่ค้า เจ้าของเขียงหมู ตามตลาดนัดจากหลาย ๆ พื้นที่รับไปจำหน่ายต่อ เพราะเนื้อหมูที่แช่แข็งมาละลายน้ำ ถ้าไม่สังเกตให้ดีจะคล้าย ๆ หมูสด ทั่วไป ลูกค้าหมูเถื่อนจะเป็นร้านอาหารรายเล็ก ๆ บางแห่ง เช่น ร้านข้าวราดแกง ร้านหมูกระทะ ที่ซื้อมาเพื่อประกอบอาหารเพราะต้นทุนถูกกว่าการซื้อหมูเขียงตามปกติที่ราคา กก.ละ 200 กว่าบาท
ประกอบกับมีบางช่วงที่หมูของผู้เลี้ยงในประเทศโตไม่ทันความต้องการ จึงหันไปซื้อหมูจากการลักลอบนำเข้าในลักษณะนี้ แหล่งข่าวกล่าว ทั้งนี้ หมูเถื่อนดังกล่าวเชื่อกันว่า เป็นหมูที่ลักลอบนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งมีการเลี้ยงที่ต้นทุนต่ำ และเป็นหมูที่ตายแล้วหรือเป็นหมูที่น็อก อาจทำให้เนื้อหมูไม่สดและอาจมีการปนเปื้อน และอาจส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคได้
ล่าสุด ประชาชาติธุรกิจ ได้สอบถามเรื่องหมูเถื่อนลักลอบนำเข้าไปยังนายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพียงว่า ขอตรวจสอบก่อนว่ามีการรายงานประเด็นดังกล่าวจริงหรือไม่ พร้อมกับยืนยันว่า กรมปศุสัตว์มีมาตรการตรวจสอบเข้มงวดในการนำเข้าซากสัตว์และการเคลื่อนย้ายสัตว์ เพื่อป้องกันการลักลอบนำเข้าซากสัตว์ผิดกฎหมายอย่างต่อเนื่อง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อเฝ้าระวังและควบคุมโรคระบาดในสัตว์ ขบวนการลักลอบนำเข้าเนื้อสัตว์และชิ้นส่วนที่ผิดกฎหมายจากต่างประเทศ ที่ไม่มีเอกสารการเคลื่อนย้ายหรือขออนุญาตหรือโดยสำแดงเท็จว่าเป็นสินค้าอื่น ได้สั่งการเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์พร้อมหน่วยงานในพื้นที่ดำเนินการตรวจสอบ รายงานและดำเนินการลงโทษผู้กระทำความผิดอย่างเข้มงวดต่อเนื่อง
โดยหากพบกระทำความผิดตามมาตรา 242 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 และพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 เพื่อเป็นการปฏิบัติตามข้อตกลงระหว่างกรมปศุสัตว์กับกรมศุลกากร เรื่องปฏิบัติเกี่ยวกับกรณีที่มีการจับกุมดำเนินคดีลักลอบนำสัตว์หรือซากสัตว์เข้ามาในราชอาณาจักร ผ่านด่านศุลกากร กรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการตรวจสอบคุมเข้มป้องกันการลักลอบนำเข้า ทำลายแหล่งเนื้อเถื่อน และลงโทษผู้กระทำความผิด นอกจากนี้ได้ตรวจสอบห้องเย็นเพื่อกันการกักตุนสินค้าอย่างต่อเนื่อง
ส่วนการนำเข้าหมูล่าสุดระหว่างเดือนมกราคม-มิถุนายน 2565 ปรากฏมีการนำเข้าเนื้อหมู/ส่วนอื่นของหมูปริมาณ 43,626.79 ตัน มูลค่า 1,224.60 ล้านบาท, ขาหมูหมักเกลือปริมาณ 76.07 ตัน มูลค่า 29.78 ล้านบาท, ผลิตภัณฑ์สุกร ปริมาณ 443.71 ตัน มูลค่า 110.05 ล้านบาท และชิ้นส่วนอื่นของสุกร ปริมาณ 43,107.02 ตัน มูลค่า 1,085.37 ล้านบาท