วันที่ 24 มิ.ย. 2565 ที่สถานีขนส่งผู้โดยสารนครราชสีมา แห่งที่ 1 ซึ่งเป็นต้นทางของรถโดยสารหมวด 4 เส้นทางตัวเมืองโคราชไปในพื้นที่ 32 อำเภอของ จ.นครราชสีมา บรรยากาศ พบว่าผู้มาใช้บริการขนส่งสาธารณะค่อนข้างน้อย นายอนันต์ ภู่ภัทรางค์ หุ้นส่วน บริษัท โคราชด่านขุนทดทรานสปอร์ต จำกัด ผู้ประกอบการรถประจำทางหมวด 4 เลขข้างรถ 4391 สายนครราชสีมา-ด่านขุนทด เปิดเผยว่า…
ก่อนวิกฤตโควิดรถสายนี้มี 22 คันให้บริการต่อวันประมาณ 50 เที่ยว ช่วงโควิดระบาดต่างได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หลายรายต้องหยุดวิ่งและวิ่งต่อไม่ใช่ได้กำไรต้องกัดฟันสู้ เพราะเป็นอาชีพหลักสืบทอดจากครอบครัว โดยลดต้นทุนทำทุกอย่างเช่นลดเที่ยววิ่ง เหลือเพียง 8 เที่ยว ก็ยังขาดทุนแทบทุกเที่ยว หลังสถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลาย สถานศึกษากลับมาเรียนออนไซต์ ประชาชนออกมาใช้ชีวิตตามปกติ
จึงมีผู้โดยสารส่วนใหญ่เป็นนักเรียน นักศึกษามากขึ้น แต่ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่เป็นต้นทุนหลักปรับราคาขึ้นแต่ค่าตั๋วโดยสารเท่าเดิม ทำให้ผลประกอบการสามารถเลี้ยงตัวเองแต่ไม่เหลือกำไรนำมาปรับปรุงพัฒนาเกี่ยวกับสิ่งอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยของรถได้
นายอนันต์ กล่าวต่อว่า… สถานะของธุรกิจขนส่งผู้โดยสารขณะนี้ต้องประคับประคองให้อยู่รอดไปวันๆ โดยเฉพาะรถหมวด 4 ส่วนใหญ่สายป่านสั้น บางรายนำรถเข้าไฟแนนซ์เป็นหลักประกันกู้หนี้ยืมเงินมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวันและต้องหยุดวิ่งไม่มีกำหนด หากจะกลับมาวิ่งใหม่ก็ต้องหาเงินจ่ายค่าซ่อมบำรุงตัวรถ จึงมีหุ้นส่วนยอมจอดรถทิ้งแม้เป็นสิ่งที่ยากลำบากกับการเปลี่ยนอาชีพใหม่ที่ทำมาค่อนชีวิต
หากฝืนอยู่ต่ออนาคตไม่แน่นอน มีโอกาสมีหนี้สินมากกว่าอยู่รอด ส่วนผมช่วงโควิดได้ขายรถโดยสารแบบพัดลม 50 ที่นั่ง รวมคิวด้วยเพียง 3 แสนบาท เพื่อนำเงินมาใช้จ่ายในครอบครัวและอยู่ระหว่างประกาศขายรถปรับอากาศชั้น 2 ขนาด 50 ที่นั่ง พร้อมคิวราคา 5 แสนบาท แต่ยังไม่มีใครสนใจเลย ซึ่งต้องรอฟังมติของสมาคมกิจการรถโดยสารประจำทางไทย หากรัฐบาลไม่ปรับราคาค่าโดยสาร เพื่อความอยู่รอด อาจต้องลดเที่ยววิ่งอีก นายอนันต์ ระบุ