เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2565 จากกรณีที่ก่อนหน้านี้นายสมบูรณ์ กรมไธสง อายุ 42 ปี และ นางน้ำฝน เทพพิทักษ์ อายุ 35 ปี ชาว ต.พุทไธสง อ.พุทไธสง จ.บุรีรัมย์ สองสามีภรรยา ได้เข้าร้องเรียน ว่าได้สูญเสียน้องต้นน้ำ อายุ 12 ปี นักเรียนชั้น ม.1 ลูกชายคนเดียว สาเหตุจากไส้ติ่งแตก และติดเชื้อระบุหมอปล่อยเวลาล่วงเลยนาน 2 วันหลังเข้าทำการรักษา แต่หมอไม่ยอมผ่าตัด ทั้งที่โรงพยาบาลต้นทางระบุชัดว่าไส้ติ่งอักเสบ
เหตุการณ์ดังกล่าวกลายเป็นกระแสสังคมที่หลายคนต่างตั้งข้อสงสัยถึงแนวทางการรักษาของหมอ โดยเฉพาะคำบอกเล่าของพ่อ ที่บอกว่าพนักงานเปล ระบุมีเคสพิเศษ 2 รายตัดหน้าผ่าตัดไปก่อน ล่าสุดที่ตึกเฉลิมพระเกียรติ ชั้น 8 โรงพยาบาลศูนย์บุรีรัมย์ นายแพทย์รักเกียรติ ประสงค์ดี รอง ผอ.ฝ่ายการแพทย์โรงพยาบาลศูนย์บุรีรัมย์ เปิดโต๊ะแถลงตามที่ได้รับมอบหมายจาก นายแพทย์ภูวดล กิตติวัฒนาสาร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบุรีรัมย์
นายแพทย์รักเกียรติ ระบุว่า จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า น้องต้นน้ำ มีอาการปวดท้องน้อยขวามาประมาณ 1 วัน เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลพุทไธสง หมอระบุเป็นไส้ติ่งอักเสบ แล้วส่งต่อมารักษาที่โรงพยาบาลบุรีรัมย์ แพทย์ทำการตรวจประเมินซ้ำ วินิจฉัยว่าไส้ติ่งอักเสบ เช่นเดียวกัน
โดยเซ็ตเวลาผ่าตัดไว้ที่ 17.00 น.วันที่ 29 พ.ค.ต่อมาพบว่าอาการของน้องเปลี่ยนแปลง มีหัวใจเต้นแรงมากขึ้น หมอได้เพิ่มน้ำเกลือ ประกอบผู้ป่วยมีความสูง 163 น้ำหนัก 83 กก.อยู่ในสภาวะน้ำหนักมาก ผู้ป่วยเข้าห้องผ่าตัด 23.30 น. แต่ในขณะนั้นห้องผ่าตัด ซึ่งมี 3 ห้อง มีคนไข้รอผ่าตัดอยู่ ทั้ง 3 ห้อง ห้องแรกผ่าตัดไส้เลื่อน และมีลำไส้เน่า แพทย์ต้องการตัดต่อลำไส้ ต้องผ่าตัดคนไข้ที่มารอก่อนหน้านี้ เป็นผู้ป่วยช่องท้องอักเสบอย่างรุนแรง
ผู้ป่วยรายที่ 2 ผ่าตัดเสร็จประมาณ ตี 2 ของวันที่ 30 พ.ค. ส่วนห้องผ่าตัดอีกห้อง เป็นคนไข้อุบัติเหตุกระดูกโผล่ มีแผลเปิด อีกรายหนึ่งช่วงใกล้จะถึงเที่ยงคืน ซึ่งเป็นห้องผ่าตัดอีกห้อง ต้องผ่าตัดเด็กในครรภ์ มีสภาวะหัวใจเต้นเร็ว แต่การประสานงานของหมออาจไม่ตรงกัน ทำให้พนักงานเปล เข็นน้องต้นน้ำเข้าไปห้องผ่าตัด จากการประเมินของหมอ ไม่ทราบได้ว่า การผ่าตัดเคสก่อนหน้านี้จะเสร็จสิ้นตอนไหน หรือจะใช้เวลานานแค่ไหน ไม่สามารถกำหนดเวลาได้ ถ้าจะให้เด็กรออยู่ในห้องผ่าตัดอาจจะไม่ปลอดภัย จึงแจ้งไปยังหอผู้ป่วยขอส่งตัวคนไข้คือน้องต้นน้ำกลับไปที่ห้องก่อน
ประเด็นที่ผู้ปกครองน้องติดใจว่า มีเคสพิเศษ แทรกคิวของน้องหรือไม่ จากการสอบสวนแล้วไม่มีเคสพิเศษใดๆ ในโรงพยาบาล ทุกเคสสามารถที่จะมีหลักฐานประกอบ และเป็นเคสที่มีความเร่งด่วน และมารับบริการก่อนหน้านี้ ต่อมาแพทย์พบว่าน้องมีอาการหายใจเร็วขึ้น และตรวจพบว่ามีภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด ผลจากการผ่าตัด พบว่าพบไส้ติ่งแตก มีหนองอยู่โดยรอบ ประมาณ 100 ซีซี การผ่าตัดเสร็จเวลาประมาณ 14.00 น. ใช้เวลาในการผ่าตัด 45 นาที
เนื่องจากสภาพก่อนผ่าตัดมีภาวะแย่ลง และมีการติดเชื้อในกระแสเลือด จึงส่งเข้ารักษาที่ห้อง ไอซียู และหัวใจน้องหยุดเต้นเมื่อเวลา 02.25 น. ของวันที่ 31 พ.ค. 2565 ทั้งนี้โรงพยาบาลต้องขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวของน้องก่อนเป็นอันดับแรก และโรงพยาบาลยอมรับว่าเรารักษาที่ล่าช้า เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 31 พ.ค. ทางคณะทีมรักษารวมถึงคณะการเยียวยา และการให้ข้อมูล การเยี่ยมบ้านคนไข้ ถือว่าล่าช้าไปมาก
หลังจากนี้จะต้องไปขอขมาผู้ปกครองเด็กในเร็วๆนี้ ส่วนการเยียวยา จะต้องเข้าไปสอบสวนในเชิงลึก ว่าจะสามารถช่วยเหลือครอบครัวเด็กตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหาย จากการรับบริการทางสาธารณสุข ได้มากน้อยแค่ไหน