สงสัยหนัก ทำไม? พระพุทธรูปมีตุ่มขึ้นเต็มทั้งองค์ ชาวบ้านแห่ขอเลขเด็ด

เมื่อวันที่ 16 พ.ย. 2566 สืบเนื่องกรณีโลกออนไลน์ แชร์ภาพพระพุทธรูปวัดโบสถ์การ้อง อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก ซึ่งมีพื้นผิวขรุขระคล้ายตุ่มทั่วทั้งองค์ โดยพระพุทธรูปดังกล่าว เป็นพระประจำวันเกิดวันศุกร์มีความสูงประมาณ 1 เมตร 50 เซนติเมตร มีความแปลกที่มีเม็ดตุ้มขึ้นเต็มองค์

เมื่อนำมือไปลูบจับดูเหมือนมีตุ่มแข็งๆ ผุดออกมาจากองค์ พระสร้างความแปลกประหลาดมาก จึงมีชาวบ้านนำดอกไม้ธูปเทียนมากราบไหว้และอธิษฐานขอเลขเด็ด โดยการจุดธูปขอเลขเนื่องจากใกล้วันหวยออกโค้งสุดท้ายได้เลขเด็ด 490, 495

ต่อมา ผศ.ดร.พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า เท่าที่พิจารณาจากภาพถ่ายสันนิษฐานว่าการที่องค์พระทีผิวขรุขระขึ้นตุ่ม เกิดจากความชื้น แต่ไม่แน่ใจว่าพระพุทธรูปองค์ดังกล่าวทำจากวัสดุประเภทใด

หากเป็นพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นใหม่ เข้าใจว่าหล่อจากโลหะแล้วทาสีทองทับ ซึ่งโดยปกติหากเกิดสนิมจะขึ้นเป็นจุดๆ เช่นนี้ เมื่อเกิดความชื้นที่อาจซึมขึ้นจากฐานปูนที่องค์พระตั้งอยู่ พื้นผิวจึงปูดออกมาเป็นจุดๆ คล้ายตุ่มขนาดเล็กดังที่เห็น แต่หากพระพุทธรูปองค์นี้ทำจากหินหรือปูนปั้น ความชื้นที่เกิดขึ้นจะทะลุตามรูพรุน แต่มักทำให้ผิวแตกออก ไม่ใช่ขึ้นเป็นตุ่มอย่างโลหะ

“พระรุ่นใหม่ๆ มักทำจากทองเหลือง นำสังกะสีผสมกับทองแดง ตรงไหนทองแดงกระจุกตัวมากหน่อย ก็ขึ้นสนิมง่าย จะปูดออกมาเป็นจุดๆ ระยะยาว คาดว่าพระพุทธรูปองค์นี้จะเกิดสนิมขึ้นอีกต่อเนื่อง สุดท้ายต้องล้างสีทองออกแล้วขัดสนิม” ผศ.ดร.พิพัฒน์ กล่าว

ผศ.ดร.พิพัฒน์ กล่าวต่อว่า สำหรับเทคนิคสมัยโบราณมีการใช้ ยางรัก ซึ่งเป็นวัสดุธรรมชาติทาบนผิว แล้วปิดทองทับ ความชื้นจึงสามารถระบายออกได้ ต่างจากการทาด้วยสีน้ำมันในยุคใหม่ หากนำสีดังกล่าวทาทับพระพุทธรูปโบราณและโบราณสถานจะเกิดความเสียหายดังที่ปรากฏเป็นข่าวหลายครั้ง เช่น พระพุทธรูปที่วัดอรุณราชวราราม ซึ่งพระพักตร์แตกเสียหาย

การใช้สีน้ำมันเหมือนการนำสีไปหุ้ม ความชื้นสะสมอยู่ข้างในเยอะ พอหินเกิดความชื้นจึงแตกออก แต่เทคนิคโบราณเป็นการลงรักปิดทอง ความชื้นระบายออกได้ ถามว่ากรณีที่เกิดกับโบราณสถาน โบราณวัตถุวัดผิดหรือไม่ ก็ผิดในเชิงอนุรักษ์ แต่เข้าใจได้ว่ามีความพยายามบำรุงศาสนา ก็อยากให้ทุกอย่างดูใหม่ จึงควรทำคู่ขนานกัน หันไปใช้เทคนิคแบบโบราณ แต่ต้นทุนแพงเป็นหมื่นเป็นแสน ถ้าชุมชนเข้มแข็งอาจพอช่วยได้ ผศ.ดร.พิพัฒน์ กล่าว

About the author

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *