จากกรณีมีผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ Prangtong Jaiboon ได้โพสต์เล่าเรื่องเกี่ยวกับพ่อที่กลายเป็นผู้ป่วยติดเตียงแล้วบัตรประชาชนหมดอายุ แต่อำเภอให้แบกพ่อป่วยติดเตียง ไปทำบัตรประชาชนใหม่ ทั้งที่บอกแล้วผู้ป่วยช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ สุดท้ายพ่อเสียชีวิตอีกวันหลังจากทำบัตร โดยเจ้าของโพสต์ยังได้วิพากษ์วิจารณ์ระบบราชการไทยอีกด้วย ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น
ล่าสุด นายธรรมนูญ แจ่มใส นายอำเภอเมืองปทุมธานี ได้ลงพื้นที่ไปที่บ้านพกของเจ้าของโพสต์ดังกล่าว ได้พบกับ น.ส.ปรางทอง ใจบุญ ลูกสาวของ นายสมหมาย ใจบุญ อายุ 66 ปี ซึ่งเป็นพ่อที่เสียชีวิตไปเมื่อวันที่ 8 มิ.ย.2566 หลังจากที่ลูกสาวต้องนำพ่อที่ป่วยติดเตียงไปทำบัตรประชาชนที่ว่าการอำเภอเมืองปทุมธานี และกลับมาที่บ้านได้ไม่กี่ชั่วโมงก็ได้เสียชีวิตลง
ซึ่งนายธรรมนูญได้ยกมือไหว้ขอโทษทางลูกสาวและภรรยาผู้เสียชีวิตเป็นอย่างมากกับเรื่องที่เกิดขึ้น พร้อมเปิดเผยว่า จะนำเรื่องที่เกิดขึ้นไปปรับปรุงแก้ไข ส่วนเจ้าหน้าที่ที่ทำงานบกพร่องเรื่องนี้ก็ต้องมีมาตรการลงโทษ ตนจะได้ทำหนังสือชี้แจ้งกับเรื่องที่เกิดขึ้นทั้งหมดซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ที่ทำบัตรประชาชน และไม่ได้มีการกล่าวอ้างเรื่องที่ดินแต่อย่างใด รวมทั้งจะได้สอบสวนข้อเท็จจริงทั้งหมด
นายธรรมนูญ กล่าวว่า วันหนึ่งมีประชาชนมาติดต่อกันเยอะมาก ตนมาอยู่ที่อำเภอเมืองปทุมธานีได้ 5 เดือนก็พยายามปรับปรุงแก้ไขเรื่องต่าง ๆ ไปเรื่อย ๆ รวมทั้งสถานที่ด้วย ส่วนเรื่องบัตรคิวให้รับถึงเวลา 17.00 น. และให้เคสนี้เป็นเคสสุดท้าย เพราะเป็นความเสียหายระดับประเทศ ในการประชุมกำนัน ผู้ใหญ่บ้านแต่ละเดือน เราได้กำชับกำนัน ผู้ใหญ่บ้านตลอด เรื่องผู้ป่วยติดเตียงเวลาทำบัตรประชาชน ทางอำเภอก็ต้องเข้าไปทำให้เขาอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน
ด้าน น.ส.ปรางทอง กล่าวว่า เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.ที่ผ่านมา ตนพาแม่ไปทำบัตรประชาชนที่อำเภอเมืองปทุมธานี และได้สอบถามเจ้าหน้าที่ว่าพ่อตนป่วยติดเตียงจะทำบัตรประชาชนต้องทำอย่างไรบ้าง ทางเจ้าหน้าที่ก็บอกว่าต้องแบกมา ซึ่งตนก็ย้ำไปว่าพ่อป่วยติดเตียงนะ เขาก็บอกว่ายังไงก็ต้องเอาพ่อมาที่อำเภอทุกเคส ทุกกรณี ไม่ว่าจะป่วย หรือนั่งรถเข็ญก็ต้องมา
น.ส.ปรางทอง กล่าวต่อว่า ตนก็ติดต่อรถกู้ภัยพาพ่อไปทำบัตรประชาชนซึ่งไม่มีเรื่องอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง จากนั้นก็พาพ่อกลับมาที่บ้าน ช่วงเวลาเช้ามืดก็เสียชีวิตในวันที่ 8 มิ.ย.2566 เพราะพ่อต้องใช้บัตรประชาชนในการเสียบบัตรเพื่อเบิกค่ารักษา และอยากให้เคสพ่อเป็นเคสสุดท้ายไม่อยากให้เกิดปัญหาขึ้นอีก