นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจสถานภาพหนี้ครัวเรือนไทยในปีนี้ พบว่า คนไทยเกือบ 100% มีหนี้ครัวเรือน และมีการก่อหนี้เพิ่มขึ้น 3.7% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้านี้ โดย 1 ครัวเรือน จะมีหนี้อยู่ 501,711 บาท
ซึ่งสูงเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่มีการสำรวจภาวะหนี้ครัวเรือนไทย ตั้งแต่ปี 2550 แต่ละเดือนมีภาระที่ต้องผ่อนชำระถึง 12,800 บาท ที่น่ากังวล คือ มีมากถึง 65.9% ที่เคยผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งสาเหตุที่คนไทยเป็นหนี้มากขึ้น เป็นผลจากค่าครองชีพสูง ทั้ง สินค้าแพง น้ำมัน แพง และเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว ทำให้มีรายได้ไม่พอกับรายจ่าย
โดยหอการค้าไทย คาดว่า หนี้ครัวเรือนไทย ณ สิ้นปี 65 จะมีสัดส่วนอยู่ที่ 89.3% ต่อจีดีพี หรือ คิดเป็นมูลค่าหนี้ครัวเรือน 14.97 ล้านล้านบาท ซึ่งถือว่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ แต่อย่างไรก็ดี แม้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี จะอยู่ในระดับสูง แต่ส่วนใหญ่เป็นหนี้ที่อยู่ในระบบ ซึ่งยังไม่ได้เป็นการกู้จนน่ากังวล และไม่ใช่การก่อหนี้จากการฟุ่มเฟือย
แต่เป็นหนี้ที่เพิ่มขึ้นจากภาวะค่าครองชีพสูง และอีกส่วนหนึ่งคือรายได้เพิ่มไม่ทันกับรายจ่าย ซึ่งการที่หนี้ครัวเรือนไทยจะกลับมาอยู่ในระดับ 80% ต่อจีดีพี อาจจะไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องทำให้เศรษฐกิจไทยในแต่ละปี เติบโตสูงในระดับ 6% นั่นหมายถึง ภาครัฐจะต้องกระกระตุ้นการลงทุนภาครัฐ ผ่านโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ซึ่งจะช่วยให้คนมีรายได้เพิ่ม จะเพิ่มการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น