พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก โฆษกกองบัญชาการตำรวจนครบาล และ พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แถลงชี้แจงกรณีกฎหมาย พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 หรือกฎหมาย PDPA ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันพรุ่งนี้ (1 มิถุนายน) โดยผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ได้สั่งการให้ทุกกองบังคับการ และทุกพื้นที่เตรียมพร้อมหากมีประชาชนเข้ามาแจ้งความการละเมิด พ.ร.บ.ดังกล่าวระหว่างบุคคลต่อบุคคล หรือระหว่างหน่วยงานและนิติบุคคล
โดยให้ศึกษากฎหมายดังกล่าวให้ชัดเจนมากที่สุดโดยพิจารณาถึงวัตถุประสงค์ของพฤติการณ์ที่มีการแจ้งความดำเนินคดี หรือฟ้องร้องการละเมิด นอกจากนี้ ยังให้ทุกหน่วยงานในสังกัดไปตรวจสอบอุปกรณ์บันทึกภาพและข้อมูลต่างๆ ให้เกิดความปลอดภัยในการดูแลข้อมูลส่วนบุคคลของผู้มาแจ้งความและประชาชน
ทั้งนี้ ในส่วนของกล้องวงจรปิดที่เป็นกล้องตรวจจับความเร็วกล้องตรวจจับการฝ่าช่องทางจราจรเส้นทึบ และกล้องจับการฝ่าไฟแดง ยังคงทำงานในการตรวจจับตามปกติ หากมีผู้ฝ่าฝืนกระทำความผิดก็จะดำเนินการส่งใบสั่งอัตโนมัติ หรือใบสั่งดิจิทัลไปยังบ้านของเจ้าของรถคันที่ก่อเหตุเหมือนเดิม ซึ่งอุปกรณ์และรูปแบบการทำงานต่างๆ จากการตรวจสอบแล้วพบว่าไม่เข้าข่ายความผิดการละเมิด พ.ร.บ.ดังกล่าว เพราะเข้าข่ายการใช้เพื่อดูแลความมั่นคงและความปลอดภัยของประชาชนจึงสามารถดำเนินการได้ตามปกติ
ด้าน พ.ต.อ.กฤษณะกล่าวถึงรายละเอียดของข้อกฎหมายว่า มีการประกาศใช้ตั้งแต่ปี 2562 และถูกประกาศเลื่อนการบังคับใช้ออกไปเป็นเวลากว่า 3 ปีแล้ว และมีการประชาสัมพันธ์ให้ภาคประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับรู้เพื่อให้เกิดการปรับตัวเรื่อยมา ซึ่งในวัน 1 มิถุนายน จะมีการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวทั่วประเทศ
โดยกฎหมายดังกล่าวอธิบายโดยง่ายคือ หากเป็นการใช้ข้อมูล หรือบันทึกข้อมูลภาพถ่ายภาพนิ่งคลิปวิดีโอหรือข้อมูลอื่นๆ หากใช้เพื่อการดูแลความมั่นคงของประเทศ, ใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะ, หรือใช้เพื่อปกป้องทรัพย์สินและสิทธิของตนเองก็สามารถทำได้ โดยไม่เป็นการละเมิด พ.ร.บ. แต่ก็ต้องไปพิจารณาว่าข้อมูลต่างๆ ที่ได้มาหากมีการนำไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต หรือนำไปเผยแพร่โดยทำให้เกิดความเสียหายกับบุคคลใดก็สามารถที่จะฟ้องดำเนินคดีได้ตาม พ.ร.บ.ดังกล่าวหรืออาจไปเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์และกฎหมายอาญาอื่นๆ
สำหรับโครงการต่างๆ ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติดำเนินการอยู่ อาทิ โครงการ smart city zone 4.0 ซึ่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นผู้ริเริ่มแล้วมีการติดตั้งกล้องวงจรปิดต่างๆ ไปแล้วทั่วประเทศ ประโยชน์สาธารณะและความมั่นคงจึงไม่เข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว อีกทั้งยังมีการกำชับให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทุกพื้นที่กองบัญชาการและทุกพื้นที่สถานีตำรวจ ดูแลระบบและป้องกันไม่ให้มีการนำภาพดังกล่าวออกไปเผยแพร่จนทำให้บุคคลอื่นได้รับความเสียหาย
ซึ่งภาพต่างๆ ที่ได้สามารถใช้ในการเป็นหลักฐานดำเนินคดีหากมีผู้กระทำความผิดได้ตามปกติ รวมถึงกล้องตรวจจับความเร็วและกล้องติดตัวประจำเจ้าหน้าที่สายตรวจและตำรวจจราจรทุกนายทั่วประเทศ ส่วนอุปกรณ์บันทึกภาพหรือข้อมูลต่างๆ ที่ประชาชนใช้งานอยู่ อาทิ กล้องหน้ารถกล้องวงจรปิดที่ติดอยู่ภายในเคหะสถานหรือที่พักอาศัย ยังสามารถใช้งานได้แต่ต้องดูเป็นรายกรณีไป หากเป็นการใช้เพื่อป้องกันทรัพย์สิน และความปลอดภัยของตนเองก็สามารถทำได้
แต่ภาพและข้อมูลที่ได้สามารถนำไปใช้ในการเป็นพยานหลักฐานหากมีการกระทำความผิดของคนร้ายหรือผู้ก่อเหตุได้ แต่ไม่สามารถนำไปเผยแพร่ในช่องทางต่างๆ จนอาจทำให้บุคคลในภาพได้รับความเสียหาย ทั้งนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้มีการทำความเข้าใจเรื่องการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวกับทุกพื้นที่สถานีตำรวจแล้ว โดยวันพรุ่งนี้ยืนยันว่าทุกสถานีตำรวจพร้อมรับแจ้งความหากมีการละเมิด พ.ร.บ.ดังกล่าว โดยพนักงานสอบสวนจะมีการพิจารณาเป็นรายกรณีไปว่าวัตถุประสงค์ในการบันทึก หรือนำข้อมูลไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์ใด